[Case Study] เมื่อ UX นัดเพื่อนถ่ายรูปรับปริญญา ธรรมดาๆ ไม่ใส่ใข่แต่ใส่ใจ
บทความนี้เล่าถึงการนำ UX mindset มาช่วยแก้ไขปัญหาเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับแขกผู้มีเกียรติที่สละเวลามาร่วมเก็บภาพความทรงจำในงานรับปริญญาของก็อต
สวัสดีครับทุกคนนน ผมก็อต UX/UI Designer จาก LINE MAN Wongnai อีกเช่นเคยนะครับ แต่วันนี้ไม่ได้มาเล่าอะไรเกี่ยวกับบริษัทนะ แต่อยากมาแชร์ประสบการณ์และความตั้งใจที่ก็อตทำขึ้นมาในช่วงงานรับปริญญาที่ผ่านมา เอาแบบง่ายๆ เป็นกันเอง เอาไว้อ่านเพลิน ผ่อนคลายยามว่างนะครับ 😉
เรื่องมันมีอยู่ว่างานรับปริญญาที่ม.มหิดลปีก็อต จัดช้ากว่าปกติไปปีนึง เพราะว่าโควิด ก็อตเลยได้มีโอกาสไปร่วมงานรับปริญญาของเพื่อนๆ มหาลัยอื่นทั้งจุฬา ธรรมศาสตร์ เกษตรก่อน ซึ่งแน่นอนว่าในฐานะผู้ร่วมงานก็พบปัญหาต่างๆ มากมาย ก็แอบอดคิดไม่ได้ว่าถึงคราวของเรา เราจะทำยังไงให้คนที่มางานให้เค้ามาได้แบบสะดวกๆ แฮปปี้ตลอดงาน
เอาล่ะ รู้ยังงี้แล้ว ก็เริ่มสวมวิญญาณในฐานะ UX Designer ตัวน้อย อยากใช้สกิล มายด์เซ็ตของ UX ที่เรามี ในการร่วมแก้ปัญหาต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแขกให้ได้มากที่สุด ก็อตเลยตั้งเป้าหมายไว้ว่า
“เราจะทำยังไงให้คนที่ตั้งใจจะมางานของเรา ได้รับความสะดวกสบายในทุก touchpoint ที่เค้าเจอ ไม่ว่าจะตั้งแต่ก่อนวันงานหรือแม้กระทั่งในวันงาน”
ซึ่งในบทความนี้จะแบ่งออกเป็น 3 ตอนหลักๆนะครับ
- Research & Exploration — เพราะอยากใส่ใจ เลยอยากเข้าใจ
- Solutions — เข้าใจแล้ว ละแก้ปัญหายังไงดี (?)
- Result & Evaluation — สรุปแล้วที่เราทำ มันได้ผลเป็นยังไง เวิร์คไหม น่าเอาไปทำตามไหม
1. เพราะอยากใส่ใจ เลยอยากเข้าใจ
จริงๆ ในฐานะที่ก็อตเป็นผู้ร่วมงานมาหลายมหาลัย ก็พอรู้อยู่บ้างว่าการไปงานรับปริญญาแต่ละครั้ง มันมีอุปสรรคขนาดไหน แต่แน่นอนว่าเราคงไม่สามารถเอาตัวก็อตคนเดียวไปแทนอุปสรรคของคนอื่นๆ ได้ ก็อตเลยทำ survey เพื่อที่จะรู้ให้มากขึ้นว่าคนอื่นคิดยังไงกันบ้าง
Key takeaways:
- ใช้ Instagram Story ในการทำ survey เนื่องจากใน IG ก็อตมีเพื่อนที่ครอบคลุมหลากหลายกลุ่ม และสามารถทำได้ง่าย รวดเร็ว และเข้าถึงง่ายกว่าการทำ form (นึกภาพว่าถ้าเราร่อน google form ไปก็คงไม่มีใครตอบ 😂)
- การออกแบบ Instagram Story ถามให้ชัดว่ากำลังถามใคร และอยากรู้อะไร โดยการไฮไลท์ที่ main point ของสตอรี่นั้นๆ
- ใช้สีพื้นหลัง (A สีขาว/B สีดำ/C สีขาว) สลับกันเพื่อแยกความแตกต่างของแต่ละอัน ป้องกันคนกดข้ามเพราะคิดว่ามันเหมือนกัน และเน้นย้ำมากขึ้นโดยใช้สีที่อยู่ในแต่ละหัวข้อให้แตกต่างกัน (A สีชมพู/ B สีเขียว/ C สีม่วง)
- จริงๆ ถาม A,B ก็เพียงพอแล้ว แต่การเพิ่มสตอรี่ C เข้ามาเพื่อเพิ่ม Engagement ผ่าน poll ที่ให้คนเลือก ซึ่งตาม algorithm ของไอจีแล้ว ยิ่งมีคนกด poll ในสตอรี่เยอะขนาดไหน ไอจีจะยิ่งดันสตอรี่เพื่อทำให้เพื่อนเราเห็นมากเท่านั้น
ซึ่งหลังจากที่ถามไปสักพักก็มีคนเข้ามาตอบสตอรีค่อนข้างเยอะเลยทีเดียว ทำให้เราได้เปิดมุมมองในหลายๆ อัน โดยเฉพาะสตอรี่ B ที่ถามถึงคนที่มาร่วมงานโดยเฉพาะ ว่าเค้ามี pain อะไรบ้าง ซึ่งนี่ก็คือ raw data ที่ได้มาจากการตอบ poll ทั้งบัณฑิตและผู้ที่มาร่วมงาน
หลังจากนั้นก็อตก็เริ่มเอาปัญหาที่มี เริ่มมาแบ่งตามหมวดหมู่ เริ่มเอามาผูกกับ user journey ว่ากว่าคนจะมาหาเรา เค้าจะเจออะไรบ้าง ในแต่ละ stage มีปัญหาอะไร แล้วอะไรบ้างที่เราสามารถช่วยพัฒนา experience เค้าให้ดีขึ้น จนกระทั่งได้มาเป็นข้อมูลด้านล่างนี่
ปล. ขอบอกไว้ก่อนว่าทั้งหมดนี้ก็อตเอามา visualize ให้ทุกคนเห็นภาพตอนก่อนที่จะเขียนบทความนี้นี่แหละ ตอนทำจริงๆ ทุกอย่างก็ประมวลผลในหัว ไม่ได้ถึงกับมานั่งเขียนแบบนี้ 555555
2. เข้าใจแล้ว ละแก้ปัญหายังไงดี (?)
ขอรวบรัดตัดตอน ก็อตแบ่งปัญหาออกได้เป็นสองพาร์ท โดยที่
- 💡 Part 1: เป็นเรื่องเกี่ยวกับการรับรู้ การประชาสัมพันธ์ การวางแผนข้อมูล ซึ่งถ้าสังเกตก็จะเป็นการทำเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนวันงานหมดเลย
🎯 Goal: ทำยังไงให้ผู้คนได้รับข้อมูลต่างๆ ได้ครบถ้วน ถูกต้องและอัปเดตล่าสุดอยู่เสมอ และสามารถจำได้ว่าเรามีงานวันไหน - 💡 Part 2: เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดการในวันงาน ซึ่งเอาจริงๆ ก็เป็นภาคต่อจาก Part 1 แหละ ถ้าเราวางแผนมาดี เราก็จะช่วยแบ่งเบาภาระได้ค่อนข้างเยอะ
🎯 Goal: ทำยังไงให้คนมางาน มาหาเราเจอได้โดยอาศัยการโทรมาหาเราน้อยที่สุด และเจอเราโดยที่เค้าไม่ร้อน หาเราไม่ยาก
เริ่มกันที่ Part 1: ก่อนวันงาน
Key takeaways (Poster ซ้ายมือ):
- ก็อตเริ่มปล่อยโปสเตอร์ผ่าน Facebook, IG ของตัวเอง โดยดีไซน์ให้เป็นเอกลักษณ์ ช่วยสร้างธีมและภาพจำเกี่ยวกับงานที่ก็อตกำลังจะพูดถึงได้ง่ายขึ้นในอนาคต
- ตัวโปสเตอร์รูปเดียว บอกข้อมูลหลักครบ ไม่ว่าจะเป็น
• วันงานที่ระบุไปเลยว่ามันคือวันอะไร จะได้ช่วยให้คนมางานไม่ต้องไปเดินปฏิทินเทียบดูว่าวันนั้นจะตรงกับวันหยุดไหม หรือตรงกับวันทำงานไหม
• ระบุเวลาช่วงเวลาให้ชัดเจนว่ากี่โมงถึงกี่โมง ซึ่งดีกว่าการบอกว่า 13:00 เป็นต้นไป อาจสร้างความสับสนให้คนมางาน รวมถึงบัณฑิตได้
• ระบุสถานที่ให้อ่านแล้วเข้าใจ จริงๆ คณะ ICT ของก็อตมีชื่อภาษาไทยด้วย ซึ่งแน่นอนว่าเวลาเค้าจะเอาไปหาใน Google เค้าก็ต้องเสิร์ชชื่อยาวๆ นั่น ซึ่งคงลำบากกว่าการเสิร์ชว่า ICT มหิดล อะไรแบบนี้ - ให้ช้อยส์เค้าแล้ว อย่าลืมที่จะให้ suggest เค้าด้วย จะเห็นได้ว่าตรงวันที่ ก็อตมีเขียนไปตัวเล็กๆ ว่าแนะนำ แล้วชี้ไปที่วันที่ 8 เพื่อเป็นสิ่งที่ทำให้เค้าตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าเค้าควรไปวันไหนดี
- จริงๆถ้าดูรูปโปสเตอร์เต็มๆ ใหญ่ๆ จะเห็นเส้นสีขาวครึ่งวงกลมที่วาดตัดผ่าน QR Code ด้วยนะ จริงๆ ไม่ได้ใส่มาเพื่อความสวยงามอย่างเดียว แต่ทำขึ้นเพื่อสร้างจุดนำสายตาให้เค้ามาสนใจตัว QR Code ด้านล่างนี้
- ตัว QR Code และ Link พาไปยังข้อมูลต่างๆ ที่จะช่วยประกอบการวางแผนการเดินทางและการตัดสินใจ (ที่กำลังจะพูดต่อจากนี้)
ถ้าย้อนกลับไปที่รูป pain point จะเห็นได้ว่าคนที่มางาน จำเป็นที่จะต้องศึกษาข้อมูลต่างๆ เยอะมากกกกกก ทั้งวิธีการเดินทาง การจอดรถ การเดินทางในมหาลัย ซึ่งหลายๆ ครั้งพอด้วยความที่เราไม่ได้เป็นเจ้าถิ่น เราก็ไม่มีทางรู้เลยว่าข้อมูลที่เรากำลังหาอยู่นั้นมันอัปเดตล่าสุดขนาดไหน แถมจะต้องไปหาที่ไหนถึงจะได้ข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนล่ะ ทีนี้เราเลยมีความตั้งใจว่า
“คนที่มางานเรา เค้าไม่ควรจะเสียเวลาไปหาข้อมูลต่างๆ ด้วยตัวของเขาเอง เราในฐานะคนที่รู้จักสถานที่นี้ดี เราจึงต้องเป็นคนให้ข้อมูลกับพวกเขา”
จนสุดท้ายออกมาเป็น Notion ที่ให้ข้อมูลกับทุกคน
(ข้อมูลอาจจะตัวเล็กนิดนึงนะครับ ถ้าอยากดูเต็มๆ ดูได้ที่นี่)
Key takeaways:
- เลือกใช้ Notion เพราะเป็น platform ที่สามารถจัด layout จัดข้อมูลให้อ่านได้ง่าย สามารถอัปเดตข้อมูลได้ทันที สามารถแชร์ผ่านลิงก์ได้
- ใส่ Fun Fact ไปสักนิด เพื่อเป็น grab attention อย่างน้อยก็ช่วยสร้างบรรยากาศให้ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นทางการเกินไป~
- ใส่ Table of content ลงไปด้วย เพราะความต้องการของแต่ละคนมีไม่เหมือนกัน การพาทุกคนไปหาสิ่งที่ตัวเองต้องการได้เร็วที่สุด นั่นคือหัวใจสำคัญ
- ระบุรายละเอียด เกี่ยวกับวัน/เวลาเพิ่มเติม ว่าวันไหนมีกิจกรรมอะไร แล้วข้อดีของการมาวันนั้น วันนี้คืออะไร และไม่ลืมที่จะใส่ว่าเราแนะนำวันไหน
- มีปฏิทินให้คนมางานสามารถ Add to calendar เพื่อที่จะเป็นอีกทางที่จะช่วยเตือน เมื่อใกล้ถึงวันงาน
- ใส่รูปสถานที่นัดหมายให้ชัดว่าหน้าตาเป็นยังไง เดินมาจากทางไหนแล้วจะเห็นอะไร เพื่อช่วยว่าวันจริง เค้าจะได้มีภาพอยู่ในหัว แล้วลดโอกาสหลง และแนบลิงก์ Google Map ไปด้วยเพื่อง่ายต่อการค้นหาต่อ
- การเดินทาง ใส่ไปให้หมด เท่าที่จะมีทาง ทั้งรถส่วนตัว รถสาธารณะ เอารูปต่างๆ ที่มหาลัยทำไว้ มาแปะไว้อยู่ในที่เดียว เค้าจะได้ไม่ต้องไปหาเอง และแน่นอนว่าไม่ลืมที่จะแนะนำว่าช่องทางไหนดีที่สุดที่เราอยากแนะนำ
- การเดินทางในมหาลัย ปกติจะหาข้อมูลยากมากอยู่แล้ว แต่พอเราในฐานะคนท้องที่แปะข้อมูลมาให้ จะทำให้สบายใจได้ประมาณนึงว่าสิ่งนี้มัน operate อยู่จริงๆ และจะทำให้เค้าเดินทางมาหาเราได้ง่ายและเร็วขึ้น
- บอกให้ชัดเจนถึงของขวัญว่าอะไรเป็นสิ่งที่เราไม่ค่อยอยากได้ โดยพยายามใช้โทนให้ซอฟท์และนึกถึงใจของคนให้ได้มากที่สุด เช่น ลอง xx ดู ← เหมือนจะเป็นการปฏิเสธทางอ้อม พร้อมให้ option กับเค้าต่อ
- อย่าลืมให้ข้อมูลการติดต่อ พร้อมทั้งระบุว่าเราอยากให้เค้าติดต่อมาทางช่องทางไหนเป็นช่องทางหลัก เพื่อง่ายในการสื่อสารและจัดงานในวันจริง
- ข้อนี้ไม่มีอะไรแค่เป็นกิมมิกเพื่อปลุกเร้าบรรยากาศและแสดงถึงความตั้งใจว่าเราตั้งใจเจอพวกเค้าจริงๆ
นอกจาก calendar ที่เราทำลิงก์ให้คนกดเพิ่มไปปฏิทินแล้ว เราก็มีทำ reminder ในไอจีเพิ่มด้วย เป็นอีกหนึ่งฟีเจอร์ที่จะเข้าถึงคนได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น โดยหลักการทำงานของมันคือ ถ้าใครกดรับการแจ้งเตือน event ไว้ มันจะช่วยเตือนก่อนล่วงหน้าวันนึง จะได้ทำให้เค้าไม่พลาดวันดีย์ๆ แบบนี้~
ต่อด้วยที่ Part 2: วันงาน
ปัญหาหลักๆ ของวันงานมักจะเป็นปัญหาที่เอาจริงๆ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะแก้ได้ เพราะว่ามันมีปัจจัยหลากหลายมาก ทั้งความหนาแน่นของคน สภาพอากาศ สถานที่ รวมถึงการตามหาบัณฑิตด้วย แต่แน่นอนว่าเราเตรียมพร้อมได้!
เอาเรื่องการตามหาบัณฑิตในวันจริงก่อน..
1–2 วันก่อนหน้า ก็อตได้โพสต์รูปๆ นึงเพื่อเป็นการทำความเข้าใจร่วมกันว่าวันจริง ก็อตจะสื่อสารกับทุกคนยังไงดี เพื่อที่จะทำให้คนที่มางานรับรู้ได้ว่าตอนนี้ก็อตอยู่ไหน และทำอะไรอยู่ โดยมีหน้าตาในรูปด้านล่างนี้
ซึ่งเอาจริงๆ พอถึงวันงานก็ได้ผลดีกว่าที่คิดแฮะ ยกความดีความชอบให้กับฟีเจอร์นี้ของไอจีเลย ซึ่งมันออกมาได้ตรงจังหวะและตรง use case ของเราพอดี โดยมันจะขึ้นคนที่อัปเดตล่าสุดไว้เป็นลำดับแรกๆ แปลว่าเมื่อใดก็ตามที่เราอัปเดตข้อมูลตรงนี้ จะทำให้เพื่อนรับรู้ข้อมูลล่าสุดได้โดยที่ไม่ต้องโทรหาเรา ซึ่งจะได้ไม่รบกวนเพื่อคนอื่นๆ ที่กำลังถ่ายรูปด้วยกันอยู่
นอกจากการที่เราเอาข้อมูลต่างๆ มาลงใน Notion เราก็มีอัปเดตข้อมูลบางอย่างเช่น สถานที่จอดรถชั่วคราว ลงในสตอรี่ ซึ่งเราก็สื่อสารไปว่าข้อมูลทั้งหมดที่เคยลงเกี่ยวกับงานรับปริญญาจะอยู่ใน Highlight หน้าไอจี และสามารถกดดูย้อนหลังได้ ทำให้เค้าไม่พลาดข้อมูลเมื่อถึงวันงาน
ส่วนเรื่องความหนาแน่นของคน สภาพอากาศ สถานที่
จริงๆ มอของก็อตก็งงๆ นะ จัดงานตรงกับวันธรรมดาหมดเลย (จ พ ศ) แถมวันรับจริงที่ตรงกับวันหยุดนักขัตฤกษ์ก็ไม่ให้ใครเข้าไปในมอ นอกจากบัณฑิตด้วย ทีนี้เลยเลยคิดว่าคงเป็นเรื่องลำบากที่ต้องรบกวนให้คนมางาน ถึงกับต้องลางานมาเลย
// เรื่องวันที่ 8 นี่ต้องยกความดีความชอบให้กับประธานรุ่นเลย ที่ได้มีการประสานงานกับคณะจนทำให้เพื่อนๆ สามารถนัดคนอื่นมาถ่ายรูปในวันเสาร์วันหยุดได้ ซึ่งก็เป็นวันที่ก็อตแนะนำให้ทุกคนมานั่นแหละ เพราะว่า
✅ ตรงกับวันหยุด เพื่อนพี่น้องมาได้ ไม่ติดธุระที่ทำงาน
✅ ไม่มีคณะอื่นมา ลดความหนาแน่นไปได้มาก
✅ เอารถเข้ามาจอดในมหาลัยได้ เดินทางสะดวกขึ้น
ทีนี้ก็เหลือแต่เรื่องสภาพอากาศและสถานที่แล้ว ว่าเราจะแก้ปัญหายังไงดี หลายคนเลยที่ตอบโพลเข้ามาแล้วบอกว่าร้อน ไม่มีที่นั่งรอ ต่างๆ นานา…
แต่ขอย้อนกลับไปตอบคำถามที่ว่า “ทำไมถึงนัดเพื่อนมาตอน 13:00–16:00 น. ด้วย ทำไมไม่นัดตอนเช้า ทำไมไม่นัดตั้งแต่เที่ยง”
คำตอบคือ ก็อตแบ่งคนที่จะมางานออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือญาติ/พ่อแม่/ป้าน้าอา ก็อตนัดกับพวกเขาในช่วงเช้า ก็คือ ก่อน 12:00 น. เพื่อที่จะได้มีเวลาและใช้เวลาอยู่กับพวกเขาได้นานมากกว่าปกติ ได้เดินออกไปถ่ายรูปที่อื่นที่ไม่ใช่อยู่แค่คณะ ซึ่งพอผ่านมาแล้วก็รู้สึกตัดสินใจถูกมากๆ ที่นัดกันคนละเวลา ก็ด้วยความที่เค้านานๆ เจอเราทีอ่ะเนอะ จะมาถ่ายแค่รูปสองรูป บูมเมอแรงช็อตเดียวก็คงไม่พอ ยืนคุย เดินเปลี่ยนที่ถ่ายรูป เดินหาพร๊อพ หาดอกไม้ จะได้ได้รูปสวยๆ ตามที่เค้าอยากได้ ซึ่งตรงตาม need ของคนกลุ่มนี้
หลังจากนั้นช่วงบ่ายเราก็สามารถ take time กับคนกลุ่มที่สองที่เป็นเพื่อนๆ ได้เต็มที่ โดยที่ครอบครัวและญาติๆ ก็ไม่ได้รู้สึกน้อยใจแต่อย่างใด..
อีกเหตุผลหลักที่ก็อตเลือกที่จะนัดถ่ายรูปกับเพื่อนๆพี่ๆน้องๆ ช่วงบ่ายคือ ก่อนหน้านั้นก็อตมีไปดูแผนที่มาคร่าวๆ (ดูล่างภาพประกอบ) ว่าช่วงเวลาไหนจะทำให้พื้นที่หน้าคณะไม่มีแสงอาทิตย์ส่องบ้าง ซึ่งก็ตรงกับช่วงเวลาตอนบ่ายพอดี ที่เงาพระอาทิตย์จะเริ่มถูกบังด้วยตึกของคณะนั้นเอง ซึ่งด้วยปริมาณคนไม่เยอะมาก บวกกับไม่มีแสงแดดส่อง น่าจะพอบรรเทาอาการเหนื่อยล้าของทั้งบัณฑิตและผู้ที่เข้ามาร่วมงานได้บ้าง
3. สรุปแล้วที่เราทำ มันได้ผลเป็นยังไง เวิร์คไหม น่าเอาไปทำตามไหม
พาร์ทนี้ขอสรุปสั้นๆ เป็น bullet นะครับ~
- [Notion] มีคนกดเข้าไปดูข้อมูลที่ทำสรุปไว้ใน Notion ทั้งหมด 381 ครั้งเลย ซึ่งพีคที่สุดคือวันแรกที่ปล่อยโปสเตอร์ และมาพีคอีกครั้งตอนวันที่ 8 ซึ่งเป็นวันที่แนะนำให้มากันและก็เป็นวันที่คนมาเยอะที่สุด
- [Notion] มีเพื่อนๆ หลายคนทักมาเพื่อขอยืมลิงก์ Notion ของก็อตเพื่อที่จะเอาไปส่งให้เพื่อนคนอื่นบ้าง แสดงว่ามันมีประโยชน์จริงแหละ! ฮ่าๆ
- [IG] มีคนกดเข้ามาดูหน้าแอคเคาท์ในช่วงงานรับปริญญาเพิ่มขึ้น 118% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า ซึ่งอาจจะกดเข้ามาดูลิงก์ Notion หรือดูข้อมูลที่อยู่ในไฮไลท์เป็นไปได้
- [IG] มีคนกดลิงก์ Notion ที่ทำไว้เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 14.2%
- [การติดต่อ] มีคนโทรมาหาก็อตคิดเป็น 10% เท่านั้น ซึ่งส่งผลให้เราต้องถูก disrupt จากการถ่ายรูปกับเพื่อนคนอื่นรวมเพียงไม่ถึง 3 นาที ซึ่งเป็นตัวเลขที่น้อยมากๆ
- เสียดายที่ไม่ได้ทำ คือทำ satisfaction survey เพื่อดูผลว่าสรุปแล้วคนที่มางานเราเค้าแฮปปี้กันจริงๆไหม แต่เท่าที่ฟังมาก็ค่อนข้างโอเคนะครับ ยังไม่เจอใครบ่นหนักๆ ฮ่าๆ นึกถึงวันที่จบงาน ตัวเองกลับไปบ้านนอนสลบ เอาเวลาที่ไหนไปทำ :P
และนั่นก็คือทั้งหมดที่อยากมาแชร์ในวันนี้~ จริงๆสิ่งที่อยากจะสื่อ ไม่ได้มีอะไรมาก ใจความสำคัญแค่อยากให้ทุกคนมองว่า จริงๆ แล้วเราสามารถเอา UX mindset ปรับใช้ได้ทุกสถานการณ์ ปรับใช้ได้ในชีวิตประจำวัน มันอาจจะไม่ได้ทำแล้วเปลี่ยนโลกได้ แต่อย่างน้อยมันก็ทำให้คนที่อยู่รอบตัวเราสะดวกสบายมากขึ้น :D
สุดท้ายจริงๆ อยากฝากคำๆ นึงเอาไว้เพราะมีเพื่อนคนนึงบอกให้รู้จักมา คือคำว่า “Cherish Relationships” ก็อตมั่นใจว่าคำๆ นี้น่าจะอธิบายตัวตนของเพื่อนๆ UX อีกหลายๆ คน ได้ดีเลยทีเดียว :D
ขอบคุณทุกคนมากๆ ที่อ่านมาถึงตรงนี้ หวังว่าจะได้มุมมองใหม่ๆ ไปบ้างแหละเนอะ ฮ่าๆ สำหรับวันนี้สวัสดีคร้าบบบบ ถ้าใครมีอะไร อยากติชม หรืออยากปรึกษา สามารถทักมาคุยกันได้ในไอจีนะครับ padagot (instagram.com/padagot) ได้เลยนะครับบ 👋